ผศ.วีระศักดิ์ อักษรถึง
คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์
ศาสตร์ด้านศิลปกรรมมีบทบาทด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นและประเทศชาติ ทั้งยังประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ชาติด้านการซึมซับคุณค่าของความงาม เส้น แสง สี เสียง และลีลาท่าทาง ซึ่งเป็นมิติแห่งการเรียนรู้อารมณ์รู้สึกของมนุษย์ ทางการได้ยิน เรียกว่า ศิลปะดนตรี (Musical Art) ทางการมองเห็น เรียกว่า ทัศนศิลป์ (Visual Art) และทางการเรียนรู้ลักษณะการเคลื่อนไหว เรียกว่า ศิลปะการแสดง (Performing Art)
สถาบันราชภัฏสงขลา ได้ให้ความสำคัญกับการเตรียมทรัพยากรมนุษย์และตระหนักถึงภารกิจของการบริการด้านวิชาการให้กับท้องถิ่นภาคใต้ ในปี พ.ศ. 2538 สถาบันราชภัฏสงขลาได้ดำเนินการพัฒนาให้มีโครงการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ โดยการนำภาควิชาศิลปะ ภาควิชาดนตรี และภาควิชานาฏศิลป์ จากสังกัดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มาร่วมกันสร้างศักยภาพให้มีบทบาทพัฒนาการศึกษาศิลปกรรมศาสตร์ระดับอุดมศึกษาด้านวิชาการและวิชาชีพ เพื่อเป็นรากฐานวิชาชีพแขนงทัศนศิลป์ ประยุกต์ศิลป์ ดนตรี และศิลปะการแสดง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2547 สถาบันราชภัฏสงขลาเปลี่ยนฐานะเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา” มีผลให้การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ประกอบด้วย 7 คณะ และโครงการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ ได้ยกฐานะเป็น “คณะศิลปกรรมศาสตร์” ตามโครงสร้างของมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นหนึ่งใน 7 คณะดังกล่าว เมื่อเดือน มีนาคม พ.ศ. 2548 (อ้างจากประกาศกฎกระทรวง เรื่องการจัดตั้งส่วนราชการมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2548 ลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ณ วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2548
คณะศิลปกรรมศาสตร์ ได้ดำเนินการบริหารงานด้านวิชาการของคณะศิลปกรรมศาสตร์ โดยแบ่งออกเป็น 5 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาดนตรีไทย สาขาวิชาดุริยางคศิลป์ตะวันตก สาขาวิชานาฏศิลป์และการแสดง สาขาวิชาการออกแบบ และสาขาวิชาทัศนศิลป์ และเมื่อวันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 คณะศิลปกรรมศาสตร์ได้ย้ายสำนักงานคณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์จากอาคาร 50 ซึ่งเป็นอาคารเรียนของวิชาการออกแบบมายังอาคารคณะศิลปกรรมศาสตร์ 58 โดยได้รับจัดสรรงบประมาณ พ.ศ. 2550 - 2552 และได้รับงบประมาณต่อเติมอาคารคณะศิลปกรรมศาสตร์ 58 เฟส 2 (พ.ศ. 2554 - 2556) เพิ่มอาคารหอศิลป์ อาคารปฏิบัติการบาติก-ซิลค์สกรีน และอาคารเรียนการสอนทางทัศนศิลป์ รวม 4 อาคาร
ปรัชญา
"ศาสตร์ศิลปกรรมนำท้องถิ่นสู่พัฒนา"
วิสัยทัศน์
“คณะศิลปกรรมศาสตร์เป็นคณะชั้นนำของภาคใต้ ในการผลิตบัณฑิตที่บูรณาการ สืบสาน สร้างสรรค์ ศาสตร์ศิลปกรรม เพื่อพัฒนาท้องถิ่นสู่สากล”
พันธกิจ หลัก 7 ข้อ
1. ผลิตบัณฑิต และพัฒนาบุคลากรด้านศิลปกรรมศาสตร์ให้มีคุณภาพและคุณธรรมและสามารถแข่งขันได้
2. วิจัยและพัฒนาภูมิปัญญาด้านศิลปกรรมเพื่อสร้างสมองค์ความรู้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของท้องถิ่น
3. บริการวิชาการและถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรมทางด้านศิลปกรรมเพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้เข้มแข็งบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วม
4. ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและสืบสานโครงการอันเนื่องมาจากพระบรมราโชบายและแนวพระราชดำริ
5. สร้างความร่วมมือด้านศิลปกรรมกับมหาวิทยาลัย ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรอื่น ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
6. พัฒนาระบบบริหารจัดการและภาพลักษณ์องค์กร
7. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อเข้าสู่สากล